เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ต.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐมทรงพระเมตตาตรัสสอนไว้ดังนี้
๑."เรื่องท่านพระใบลานเปล่า ท่านละมานะกิเลสได้ก่อน
จึงจะบรรลุมรรคผล เพราะมานะกิเลสคือตัวยึดมั่นถือมั่น คิดหลงผิดว่าตนเองดีแล้ว
รอบรู้ในพระไตรปิฎก อารมณ์นี้คือ สักกายทิฎฐิ
คิดทะนงตนว่ารู้มาก จึงเสมือนหนึ่งจิตที่ลืมตัว ลืมตน คิดว่าตนเองดีแล้ว
จุดนี้แหละที่บดบังความดีให้สูญหาย เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลมิได้"
๒. "บุคคลผู้ติดในสัญญา คือ ความจำอันเป็นปัญญาทางโลก มีความประมาท
หลงคิดว่ามีปัญญาเลิศ สัญญาจึงบดบังปัญญาแต่เมื่อสมเด็จองค์ปัจจุบันทรงสะกิดให้ท่านทราบว่าความดีของท่านนั้นเป็นเพียงแค่สัญญา
ความจำในพระไตรปิฎก หาใช่ความดีอันเป็นปัญญาในธรรมวิสัยไม่ อาศัยท่านมี สัมมาทิฎฐิ อยู่บ้าง
กล่าวคือ ไม่ดัดแปลงพระไตรปิฎก จึงฉุกคิดถึงข้อเสียแห่งตนได้ เมื่อจิตมุ่งดี
ตั้งใจหาผู้ช่วยชี้แนะให้ทำลายกิเลส คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองดีแล้วนั้น จน
สักกายทิฎฐิ ผ่อนคลายลงแล้ว คือตัวถือดีหายไป จิตมีกำลังแล้ว
เณรผู้เป็นพระมหาเถระจึงเทศน์โดยอรรถอุปมาอุปไมย (สอนวิธีจับเหี้ยให้ว่า
เหี้ยมันเข้ารูอยู่ ๖ รู ถ้าจะจับมันให้อุดรูเสีย ๕ รู
เหลือไว้แค่รูเดียวก็จะจับเหี้ยได้ ท่านเคยเก่งปริยัติ ก็เข้าใจความหมาย
เจริญกรรมฐานที่ทวารใจอย่างเดียว พระพุทธเจ้าก็ทรงสงเคราะห์
โดยส่งฉัพพรรณรังสีมาปรากฏตรงหน้า สอนว่า ปิดอายตนะ ๕ เสีย เหลือแต่ทวารใจ
แล้วพิจารณากายคตานุสติ ท่านก็ปฏิบัติตาม
จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด) พระใบลานเปล่าท่านเก่งปริยัติอยู่แล้ว
ก็เข้าใจในอรรถนั้น จึงพิจารณาเป็นปัญญาเข้าถึงธรรมวิมุติได้"
๓. "จุดนี้แหละเจ้า จงอย่าลืมตน หากผู้ปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงที่สุดของความดี คือพระนิพพาน จงอย่าคิดว่าตนเองมีความดี
จักเป็นมานะกิเลส คือ จิตเต็มไปด้วยการยึดใน สักกายทิฎฐิ นั่นเอง"
๔. "สำหรับปัญหาของคุณหมอนั้น คำว่าสันตติมี ๒ อย่างใช่ไหม ตถาคตจักตอบว่า
ใช่ คือ สันตติภายนอก กับสันตติภายใน ขันธ์ ๕ ไม่ว่าของตน, ของบุคคล, ของสัตว์ วัตถุธาตุใด ๆ
นี่จัดว่าเป็นสันตติภายนอก ซึ่งทำงานสืบเนื่องกันอยู่มิได้ขาดสาย
เป็นปกติของธรรมสันตติภายนอกนี้ สำหรับสันตติภายใน คืออารมณ์ของจิต ซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วยปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส
ไม่รู้การเกิดดับของอารมณ์ เนื่องด้วยประมาทในอารมณ์ ขาดสติ-สัมปชัญญะ
กำหนดรู้อารมณ์ที่เกิด ๆ ดับ ๆ นั้น โดยมีความหลงเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องมาจากความประมาทในชีวิต
คิดว่าตนเองจักไม่ตาย คำว่าตายในที่นี้หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นว่า
ร่างกายนี้มีในตน ตนมีในร่างกาย จึงแยกจิตกับร่างกายให้ออกจากกันมิได้
มีความหลงใฝ่ฝันว่าร่างกายนั้นไม่ตาย และไม่เชื่อในกฎของกรรม
จึงถูกกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-อกุศลกรรมเข้าบงการอยู่ในอารมณ์ของจิต ยังอารมณ์ของจิตให้เกิด
ๆ ดับ ๆ อยู่ในอาการของโมหะ-โทสะ-ราคะนั้น
ประดุจหนึ่งบุคคลผู้มีร่างกายพลัดตกอยู่ในกระแสน้ำวนนั้น"
๕. "สันตติภายนอกนั้นแก้ไขไม่ได้ เป็นธรรมปกติของโลก แต่สันตติภายในนั้น
แก้ไขได้ด้วยการกำหนดรู้ตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต หรือพระพุทธเจ้าทุก ๆ
พระองค์ ที่สืบพระพุทธศาสนาต่อ ๆ กันมา โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
ให้จิตมีสติ-สัมปชัญญะระลึกได้อยู่ถึงมรณะสัญญาอยู่เสมอ
รู้ถึงทุกข์อันเกิดเนื่องมาจากสันตติภายนอก รู้ทุกข์อันจิตเสวยอารมณ์
อันเป็นสันตติภายใน เห็นอารมณ์ในขณะจิตนั้น ๆ ด้วยฐานอันมีสติ-สัมปชัญญะ ที่เกิดจากอานาปานั้น
และรู้ด้วยมีสติ-สัมปชัญญะ ที่เกิดจากพิจารณาสันตติภายนอกนั้น ปัญญาเกิดจากจุดนี้"
๖. "ที่ว่า ปัญญาเกิดจากจุดนี้ กล่าวคือ
รู้แยกร่างกายที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาว่าไม่ใช่มีในตน ตนไม่มีในร่างกาย
ความทุกข์จากสันตติภายในนอกไม่มีผู้ใดบังคับได้ สันตตินั้นเที่ยงอยู่เยี่ยงนั้นเป็นปกติ
เมื่อรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตน ไม่มีในตน ตนไม่มีในร่างกาย
ก็สามารถแยกจิตออกมาโดยปัญญานั้น"
๗. "จิตนี่แหละที่เป็นตน มีในตนจึงสามารถแยกเวทนาที่เกิดกับจิต หรือสันตติภายในได้โดยแยบยล
เป็นทางลัดตัดตรงชำระอารมณ์ของจิตให้ผ่องใส นำให้หลุดจากอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน
เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด"
๘. "สันตติภายนอกก็ดี สันตติภายในก็ดี จักต้องอาศัยจิตมีสติ-สัมปชัญญะ
กำหนดรู้ว่าเหตุใดเป็นปัจจัยให้เกิด เหตุใดเป็นปัจจัยให้ดับ
มิฉะนั้นก็จักตัดสันตติเหล่านั้นมิได้ อย่างเช่น การเคลื่อนไหวในอิริยาบถ
๔ เจ้าก็พึงกำหนดรู้ว่า การเคลื่อนไหวนั้น ๆ จักต้องมีเป็นปกติของอิริยาบถทั้ง ๔
จักยืน-เดิน-นั่ง-นอนด้วยอิริยาบถเดียวมิได้ ร่างกายหรือสันตติภายนอก
จักต้องทำงานตามสันตติของโลก หรือเมื่อขันธ์ ๕ คน-สัตว์-วัตถุธาตุเกิดขึ้นมาแล้ว
จักห้ามไม่ให้เสื่อม-ดับตามสันตติก็ห้ามไม่ได้ ฉันนี้ฉันใด สันตติภายในก็เช่นกัน"
๙. "หากจิตยังมีการเสวยอารมณ์อยู่ จักต้องรู้เหตุที่ทำให้เสวยอารมณ์นั้นโมหะ-โทสะ-ราคะจรเข้ามาในจิต
จักต้องกำหนดรู้ และอารมณ์เหล่านั้นย่อมเกิด ๆ ดับ ๆหากไม่กำหนดรู้จิตก็จักทำงานต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ความคิดที่จักหยุดยั้งอารมณ์ที่เบียดเบียนจิตอยู่นั้นก็ไม่มี
เพราะไม่รู้เท่าทันกิเลส คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ จิตจึงทำร้ายตนเองไปในสันตติภายในนั้นอย่างไม่รู้เท่าทัน"
๑๐. "การเจริญอานาปานัสสติ ทำให้จิตมีกำลัง การกำหนดรู้สภาวะของร่างกายให้อยู่ในมรณะสัญญา - กายคตา - ธาตุ ๔
หรือ อสุภสัญญา จึงยังให้สติ-สัมปชัญญะสมบูรณ์ เท่ากับสร้างความไม่ประมาทให้เกิดแก่จิต
เพราะทราบชัดว่าร่างกายนี้ตายแน่ จึงเท่ากับเห็นสันตติภายนอก
และจากการศึกษาโทษของการละเมิดศีล กรรมบถ ๑๐ ประการ เห็นโทษของกฎของกรรม
อันเมื่อร่างกายตายแล้ว กฎของกรรมเหล่านั้นจักส่งผลให้จิตที่เสวยอารมณ์โมหะ-โทสะ-ราคะนั้นไปไหน
จุดนี้ตถาคตจักไม่แยกกรรมดีหรือกรรมชั่ว เพราะอารมณ์ติดดีหรือติดเลว
ก็ล้วนแต่ส่งผลให้จิตต้องโคจรไปตามภพภูมิที่ต้องจุติอยู่เสมอ กล่าวคือไตรภูมินั้นไม่เที่ยง
ยังตกอยู่ในสันตติ คือ เคลื่อนไปมิได้ขาดสาย จึงจักขอกล่าวรวมเป็นอาการของความไม่รู้เท่าทันในสันตติภายใน
คือ จิตไม่รู้เท่าทันในอารมณ์โมหะ-โทสะ-ราคะ ที่เกิดดับอยู่ในจิตนี้"
๑๑. "เมื่อบุคคลใดรู้สันตติภายในแล้ว ก็ย่อมจักกำหนดรู้เหตุที่เกิดและที่ดับแห่งอารมณ์นั้น ความประมาทย่อมไม่มี
หรือมีก็น้อยเต็มที บุคคลผู้นั้นก็จักทำการระงับ หรือตัดข้อต่อแห่งรากเหง้าโมหะ-โทสะ-ราคะทิ้งไป
จึงจักทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดปราศจากกิเลสได้"
๑๒. "การเพียรละอารมณ์โมหะ-โทสะ-ราคะ ให้ออกไปจากอารมณ์ของจิตโดยกำหนดรู้อารมณ์ของจิตในขณะหนึ่ง ๆ นั้น
จัดได้ว่าเป็นการทำสันตติทางธรรมให้เกิดขึ้น สืบเนื่องให้จิตมีกำลังศีล-สมาธิ-ปัญญา
ก็ร้อยรัดเป็นลูกโซ่ที่ปะติดปะต่อกันเข้ามาในอารมณ์ของจิตแทนจิตนั้นจึงจัดได้ว่าเข้าถึงปัญญา
วิมุติทางพุทธศาสนาอย่างแท้จริง กล่าวคือ บุคคลนั้นถึงพร้อมด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา
เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพนั่นเอง"
๑๓. "เพราะฉะนั้น การที่ยังมีร่างกายอยู่ก็จักต้องมีสติกำหนดรู้กายว่า
ปกติของร่างกายนั้นเป็นอย่างไร เห็นคน สัตว์ วัตถุธาตุก็ต้องมีสติกำหนดรู้
แม้แต่จิตจักสัมผัสหรือเห็นพรหม เทวดา นางฟ้า
ก็ต้องมีสติกำหนดรู้ความปกติของสิ่งนั้น ๆ ยอมรับนับถือในสันตติภายนอก อันมีเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ดับไปเป็นปกติตามสภาวธรรมนั้น ๆ แต่จิตไม่ปรุงแต่ง
กล่าวคือ ไม่ให้อกุศลหรือกุศลเกิดขึ้นในอารมณ์ในขณะสัมผัสธรรมนั้น ๆ กล่าวคือ
รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นเพียงสักแต่ว่าเห็น ไม่เกาะติดในสภาวธรรมนั้น ๆ
เห็นเป็นปกติ จึงตัดโมหะ โทสะ ราคะไม่ให้เกิดขึ้นในจิต นี่คือจิตในจิต จุดแรกคือ
รู้ธรรมในธรรม การรู้เท่าทันสภาวะของจิตก็คือ รู้เวทนาในเวทนา
การรู้เท่าทันในสภาวะของโลกก็คือ รู้เวทนาภายนอก หรือสันตติภายนอก การรู้เท่าทันสภาวะของจิต
คือรู้เวทนาภายในหรือสันตติภายใน"
๑๔. "ที่สุดของธรรมก็คือ รู้แยกจิต แยกกาย แยกเวทนา แยกธรรม สรุปรวมเป็นหลักใหญ่ได้ ๒ ประการ คือ
รู้เท่าทันกองสังขารของกายและจิต ถ้าทำได้เท่านี้
พวกเจ้าก็จบกิจพระพุทธศาสนา ตัดสันตติทางโลก (ภายนอก) ทิ้งเสียได้
สันตติทางธรรมก็เกิดขึ้นเอง เป็น อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ เป็นวิญญูชน
ผู้เจริญเต็มที่แล้วในพระพุทธศาสนานั่นเอง รู้แล้วต้องจำและนำไปปฏิบัติให้ได้ด้วย"
เมื่อเอาเรื่องจริต ๖ มาใคร่ครวญ ก็พบว่ากรรมฐานทุกกองต้องอาศัยกำลังจากอานาปากองเดียวที่เป็นรากฐานสำคัญสุด
หากรู้ลมเฉย ๆ ก็เป็นแค่สมถะ (เป็นฌานสมาธิ) แต่ถ้ารู้ละเอียดลงไปว่า
แม้ลมหายใจนี้ก็ไม่เที่ยง และเป็นเหตุเกี่ยวเนื่องกับความตายก็เป็นวิปัสสนา
โยงไปสู่ความไม่ประมาทในธรรม ไม่ประมาทในชีวิต หากร่างกายตายแล้ว (หมดลม)
จิตควรจักมีเป้าหมายไปไหน สิ่งที่จิตของนักปฏิบัติต้องการก็คือพระนิพพาน
จึงขอสรุปสั้น ๆ ว่า รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน หรือรู้อานาปา รู้ มรณา รู้อุปสมานั่นเอง ผู้ที่จะรู้ได้ระดับนี้จะต้องมีสติสัมปชัญญะ
รู้เท่าทันสภาวะของกายและจิตที่ทำงานเป็นสันตติภายนอกและภายในอยู่เป็นปกติ
พิจารณามาถึงจุดนี้ สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนว่า
๑. "ให้รู้ความสำคัญของอานาปานัสสติ แต่มิใช่เกาะติดอยู่ในลมหายใจนั้น
คือ รู้ความไม่เที่ยงของลมหมายใจ แต่ไม่ให้เกาะติดความไม่เที่ยงนั้น
เท่ากับมีจิตทรงอยู่ในฌานอันเกิดขึ้นได้กับการกำหนดรู้ลมหายใจ
แต่มิใช่หลงใหลใฝ่ฝันในฌาน อันเกิดขึ้นได้กับการกำหนดรู้ลมหายในนั้น ๆ
เมื่อร่างกายยังอยู่ ก็จำเป็นต้องพึ่งลมหายใจ เป็นบันใดให้ก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน
ร่างกายพังเมื่อไหร่ ลมหายใจก็หมดความจำเป็นต่อจิตเมื่อนั้น"
๒. "อรูปฌานหรือรูปฌานก็เช่นกัน เพื่อเป็นกำลังให้จิตตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานแล้ว ร่างกายพัง
จิตก็โคจรเข้าสู่ดินแดนพระนิพพานตั้งมั่นแล้ว
อรูปฌานหรือรูปฌานก็หมดไป เหลือแต่อาทิสมานกายที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ คือ
พระวิสุทธิเทพนั่นเอง"
๓. "เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อย่าทิ้งอานาปานัสสติ
อย่าทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน ใช้ตามปกติที่ร่างกายยังมีลมหายใจ
แต่ไม่หลงใหลติดอยู่ตามนั้น อาศัยเพียงแค่ให้ร่างกายได้ระงับทุกขเวทนาด้วยกำลังของฌาน
อาศัยฌานเป็นกำลังก้าวไปเพื่อห้ำหั่นกิเลส เป็นบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน"
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ต.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนไว้ดังนี้
๑. "ในเมื่อพวกเจ้ายังมีร่างกายอยู่ในโลก เรื่องที่จักหนีปัญหาต่าง ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นหมดอารมณ์ ๒
ที่ครองใจเมื่อใดนั่นแหละ มิใช่ว่าปัญหาของโลกจักหมดไป
หากแต่จิตของพวกเจ้าจักยอมรับนับถือว่า ปัญหาของโลกเหล่านี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก
อารมณ์จิตจักไม่ยึดถือปัญหาเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ที่ขุ่นข้องหมองใจ
เห็นแต่ความเป็นธรรมดาของปัญหานั้น ๆ ดูเป็นปกติธรรมดาของโลกไปในขณะนี้"
๒. "จิตของพวกเจ้ายังตัดสังโยชน์ ๒ ยังไม่ได้ ก็พึงคิดว่าเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นปัญหานั้นผ่านไปแล้ว
ไม่ควรจักยึดจักถือนำมาคิดให้ติดข้องอยู่ในอารมณ์ และอนาคตที่ครุ่นคิดว่าจักมีปัญหาที่เกิดขึ้นมา
ก็ยังมาไม่ถึง จึงไม่ควรจักนำมาครุ่นคิดให้ติดข้องอยู่ในอารมณ์เช่นกัน
เพราะการคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง
โดยยกเหตุแห่งปัญหาขึ้นมาเป็นหลักเกาะยึด นั่นเป็นความทุกข์ของจิต"
๓. "ทางที่ดีควรจักอยู่ในธรรมปัจจุบันขณะนี้ปัญหาในธรรมปัจจุบันนั้นยังไม่มี
ก็จงรักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุข สุขอยู่ในธรรมปฏิบัติที่เห็นการสมควรแก่วาระที่จิตต้องการในขณะนั้น ๆ ให้อาหารธรรมแก่จิตที่ต้องการความสงบหรือต้องการอารมณ์คิด"
๔. "การย้อนพิจารณาถึงปัญหาทางโลกไม่ควรคิด เพราะจักทำให้จิตเป็นทุกข์ แต่การย้อนพิจารณาถึงหลักธรรมปฏิบัติที่ผ่านมาแล้วนั้นควรทำ
เป็นหลักอนุโลม ปฏิโลม (พักหรือเพียร, สมถะหรือวิปัสสนา) ถอยหน้าถอยหลังทบทวนมรรคผล จุดนี้เพื่อความมั่นคงของจิต
จักเห็นได้ง่าย"
๕. "อย่างในทางโลก หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นเป็นที่กระทบกระเทือนใจมาก จิตก็จักครุ่นคิด
แต่เรื่องนั้นระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่ยอมปล่อยวาง จนอารมณ์ของจิตนั้นจดจำเหตุการณ์หรือปัญหานั้นจนขึ้นใจ
จนในบางครั้งร่างกายตายไปแล้ว จิตมันยังมีสภาพจำเหตุการณ์เหล่านั้น
จนนำจิตไปสู่ภพสู่ชาติตามอารมณ์นั้น ก็มีมากในบุคคลชาวโลกทั่ว ๆ ไป"
๖. "จากกำลังจิตจุดนี้ พวกเจ้านำมาใช้ในทางธรรมปฏิบัติ ย้อนต้นย้อนปลายเหตุการณ์ ทบทวนคำสอน
ครุ่นคิดไม่วาง ระลอกแล้วระลอกเล่า จิตมันก็จักมีสภาพจำในธรรมคำสอนนั้น ๆ จิตไม่วางพระธรรม
ก็สามารถทำปัญญาให้เกิดจากสัญญาความจำที่มั่นคงนั้น ๆ (แบบวิปัสสนาข้อ ๙
สัจจานุโลมิกญาณ) ในที่สุดเมื่อจิตเกิดปัญญามากขึ้นๆ ตามลำดับ จนกระทั่งถึงปัญญาวิมุติเกิดขึ้นกับจิต จิตก็จักมีกำลังตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้"
๗. "จิตติดปัญหาทางโลก คิดมากเท่าไหร่ ยิ่งโง่มากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่มีใครที่จักเอาปัญญาส่วนตนไปแก้ปัญหาของโลกให้ได้หมด
ตถาคตหรือพระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็แก้ปัญหาของโลกให้หมดไปไม่ได้ (พระองค์ยกเว้นไม่โปรดสอน
พวกปทปรมะ คือ ไม่ศรัทธาในพระองค์) โลกทั้งโลกตกอยู่ใน ไตรลักษณญาณเป็นปัญหา เพราะโลกมีความพร่องอยู่เป็นนิจด้วย
กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ความพอดีของโลกไม่มี โมหะ-โทสะ-ราคะ
ครองโลกอยู่ ทำให้ความพอดีไม่เกิดแก่โลก ทุกอย่างมีปัญหาด้วย อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา เป็นปกติ"
๘. "บุคคลผู้ฉลาดเป็นบัณฑิตจักยกจิตตนให้พ้นจากปัญหาทางโลก คิดแต่จักหาธรรมวิมุติ เพื่อยกจิตตนให้พ้นจากโลก
เพิ่มพูนปัญญาให้เกิดในโลกุตรธรรม แก้ปัญหาส่วนตนเป็นหลัก ไม่ผูกมัดจิตให้ตกเป็นทาสของกิเลส
ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม โมหะ โทสะ ราคะ มีอำนาจก็ทำร้ายจิตได้น้อยเต็มที"
๙. "บุคคลผู้เป็นบัณฑิตย่อมชำระอารมณ์ไม่ให้ตกเป็นทาสแห่งกิเลสตัณหานั้น
ทำความพอดีให้เกิดแก่จิตของตนเป็นหลักใหญ่ เมื่อจิตเกิดความพอดีแล้ว คำว่าโยกคลอนไปในปัญหาของโลกย่อมไม่มี
มิใช่เพียงสักแต่ว่าปัญหาโลกภายนอกจักโยกคลอนจิตของบุคคลผู้นั้นมิได้
แม้แต่ปัญหาโลกภายในหรือ ขันธโลก ก็มิอาจจักเป็นปัญหาแก่บุคคลผู้นั้นได้ เพราะเนื่องจากความพอดีที่ถึงแล้วในจิต
และขนตกแล้ว (หมดความหวั่นไหว) จากเหตุแห่งปัญหาที่เกิดเป็นปกติในโลก ทั้งภายในและภายนอกนั้น"
๑๐. "เพราะฉะนั้นพวกเจ้าจงหมั่นรักษาอารมณ์จิตให้อยู่ในธรรมปัจจุบันเป็นดีที่สุด
เห็นธรรมทั้งหลายในโลกที่เข้ามากระทบจิตเป็นเรื่องธรรมดา เป็นไตรลักษณ์เกิดดับอยู่ปกติ
ไม่มีใครหลีกพ้นไปได้ จึงไม่ควรจักยึดธรรมที่มีความไม่เที่ยง ปรวนแปรอยู่เป็นปกติ หมั่นพิจารณาธรรมนั้นให้ถึงจุดอนัตตา
จิตจักคลายจากอารมณ์ที่เกาะยึดอยู่ในธรรมของชาวโลกนั้น ๆ
ทำความเบื่อหน่ายและปล่อยวางลงได้ในที่สุด"
๑๑. "ตายแล้วไปไหน จุดนี้ควรจักโจทย์ถามจิตเอาไว้ให้มาก ๆเพื่อป้องกันความประมาทในอารมณ์
เมื่อเกิดความฟุ้งซ่านติดในปัญหาของโลก คิดสรุปเอาตรงที่ไม่ช้าไม่นาน เมื่อร่างกายนี้ตายแล้ว ก็จักต้องทิ้งปัญหานี้จากไป
แต่ถ้าหากตัดไม่ได้ จิตก็จักนำปัญหานี้เกาะติดไปสู่ภพสู่ชาติ มันดีนะหรืออย่างนี้
๑๒. อย่าลืมความตายเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย
หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย การปล่อยอารมณ์จิตให้ติดปัญหาของโลก ล่วงเวลามากไปเท่าไหร่
เท่ากับประมาทต่อความตายมากขึ้นเท่านั้น การไม่รับรู้ปัญหาเลยนั้นก็เป็นไปไม่ได้ อยู่ในโลกก็จำเป็นต้องรับรู้
แต่รู้ก็ให้เพียงสักแต่ว่ารู้ อย่าผูกจิตให้เกาะติดปัญหานั้นให้มากจนเกินไป
ต้องพยายามทำการระงับ ตัดปล่อยวางปัญหานั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จักมีกำลังทำได้
๑๓. จุดนี้แหละพึงถามจิตตนเข้าไว้ ตายแล้วจักไปไหน เกาะอยู่ในโลกตามนั้นไปพระนิพพานได้ไหม ถามให้บ่อย ๆ จิตจักคลาย
ปล่อยวางปัญหาของโลกไปได้ตามลำดับ แก้ไขได้ก็แก้ไขไป แก้ไขไม่ได้ก็ช่างมัน
อีกมิช้ามินานร่างกายนี้มันก็จักตายไปเสียจากโลกนี้แล้ว พวกเจ้าก็จักต้องรักษาอารมณ์ของจิตให้ตายไปจากโลกนี้ด้วย อย่าให้จิตเกาะติดโลกอีก
ไม่ว่าโลกใด ๆ พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก อบายภูมิ ๔ ตัดเด็ดขาดมุ่งจิตตัดตรงพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น คิดไว้ตามนี้
จักได้ไม่หลงลืมปล่อยอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านกับปัญหาของโลกจนเกินไป"
๑๔. "สุขทุกข์อันเกิดแก่อารมณ์ บัณฑิตย่อมฉลาดป้อนอาหารธรรมทำให้จิตเป็นสุขได้
แต่ในบุคคลผู้โง่เขลา ย่อมป้อนยาพิษทำร้ายจิตให้รับทุกข์อยู่เป็นประจำ ไม่มีใครทำร้ายเราได้มากเท่ากับจิตของเราทำร้ายตัวเราเอง
ขอให้พวกเจ้าคิดดูให้ดี ไม่ต้องโทษใคร กฎของกรรมมันเป็นอย่างนั้น
ปัญหาเป็นเรื่องปกติของโลก โลกธรรมเป็นเช่นนั้น จักไปยึดถือมาเป็นอารมณ์ทำร้ายจิตเพื่อประโยชน์อันใด"
๑๕. "ปัญหาของโลกรวมอยู่ในโลกธรรม ๘ ทั้งสิ้น ไม่ว่าโลกภายนอกหรือโลกภายใน
มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เพราะร่างกาย มีเสื่อมลาภ-ยศ มีนินทา-ทุกข์
ก็เพราะร่างกาย นี่เป็นปกติของชาวโลก ที่กอปรกรรมเหล่านี้ร่วมกันมาแต่อดีต
ปัจจุบัน อนาคตชาติ อย่างนับอสงไขยไม่ถ้วน
จึงต้องมีการเสวยผลของกรรมเหล่านี้อย่างหนีไม่พ้น นี่เป็นความปกติที่ไม่มีใครหนีโลกธรรม
๘ ไปได้พ้น ตราบใดที่ยังมีร่างกายทรงอยู่ แม้จิตจักวิมุติแล้ว
แต่ร่างกายยังอยู่ในโลก ก็หนีโลกธรรม ๘ ไปไม่พ้น ดั่งในพระสูตร พวกเจ้าจักศึกษาได้ว่า
องค์สมเด็จปัจจุบันก็ยังหนีโลกธรรม ๘ ไปไม่พ้น ทรงถูกด่า นินทา สรรเสริญ อยู่เป็นประจำ"
๑๖. "การมีลาภ เสื่อมลาภ เห็นได้จากบางครั้งกฎของกรรมชักนำให้ตกอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร
เกิด ทุกขภิกขภัย จนได้อาหารน้อยบ้าง ก็มีอยู่หลายครา นี้เป็นธรรมดา เพราะยังมีร่างกายอยู่ในโลก หนีกฎธรรมดาของโลกไม่พ้น
แต่สภาวะจิตที่มีอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ ย่อมเห็นธรรมในธรรมนั้น อารมณ์จิตเป็นสุข อุเบกขาจิตมีกำลังแรงกล้า
เหนือเวทนาของร่างกาย จึงไม่เกิดทุกข์เกิดสุขไปตามสภาวะของร่างกายที่ถูกธรรมมากระทบนั้น
เขาด่า นินทา สรรเสริญได้ เพราะมีร่างกาย มียศ เสื่อมยศได้ เพราะร่างกาย มีลาภ
เสื่อมลาภได้เพราะร่างกาย มีสุขมีทุกข์ได้เพราะร่างกาย"
๑๗. "เมื่อมีสติระลึกได้เสมอว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่มีในเราเราไม่มีในร่างกาย เราไม่ใช่ร่างกาย
ร่างกายมีสภาพเหมือนบ้านเช่าที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ซึ่งตามปกติบ้านในโลกทั่ว ๆ ไป ต่อให้สร้างแข็งแรงสักปานใด มันก็ต้องเสื่อม
เรือนร้าว หลังคารั่วอยู่ตามปกติ ซึ่งเป็นปัญหาให้ผู้อยู่ต้องซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา
ซ่อมไหวก็แค่ระงับความเสื่อมได้ชั่วคราว คนยังอาศัยอยู่ก็ต้องซ่อมแซมเพื่อแก้ปัญหานั้นให้ลุล่วงไปชั่วคราว
แต่ในที่สุดบ้านเช่านั้นก็พัง ปราสาทหินศิลาแลงที่แข็งแรงในโลก
ก็มีความพังไปในที่สุดเช่นกัน"
๑๘. "การมีครอบครัว มีร่างกายต่อเนื่องกับบุคคลที่เป็นญาติเกี่ยวดอง
ก็เหมือนมีบ้านอาศัยอยู่อิงฝาชายคาติดต่อกันไปหลายๆ หลัง บ้านใดบ้านหนึ่งมีปัญหาเรือนร้าว
หลังคารั่วก็รู้กันหมดทั่ว ๆ ไป อยู่ร่วมกันก็ต้องซ่อมแซมแก้ไขปัญหานั้นตามกำลังที่จักช่วยได้
เพราะถ้าปล่อยให้ร้าวอยู่อย่างนั้น ก็กระเทือนถึงเรือนที่เราอาศัยอยู่
จักทำให้เรือนนั้นพังเร็วขึ้น เมื่อคนยังอาศัยอยู่ก็ต้องซ่อมแซมแก้ปัญหาร่วมกันไป แต่ก็กำหนดรู้หลักไตรลักษณ์เข้าไว้
แก้ไขปัญหาได้ชั่วคราว ไม่ติดใจอยู่ในปัญหานั้น เพราะเห็นตัวธรรมดา กฎของกรรมเป็นเช่นนั้น
เมื่อถึงที่สุดบ้านเช่ามันก็พังไปตามกาลสมัย เรือนใดเรือนหนึ่งก็อาจจักพังไปก่อนตามวาระกรรม แต่ผู้อยู่ในเรือนนั้น
หากรู้สภาวะไตรลักษณ์ย่อมตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า บ้านเช่านั้นพังแน่ ก็จักเตรียมการอพยพออกจากบ้านเช่าอยู่เนือง ๆ"
(ทางธรรมปฏิบัติ คือ เป็นผู้ไม่ประมาท ซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ
จนจิตชินเป็นฌานแบบง่าย ๆ คือ รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน)
๑๙. "บุคคลผู้ฉลาดเป็นบัณฑิตในพุทธศาสนา ย่อมจักหาบ้านอยู่อย่างถาวรไม่ร่อนเร่
เช่าบ้านหลังแล้วหลังเล่าอีกต่อไป เป็นจิตที่แสวงหาความสุขอย่างแท้จริง พร้อมที่จักทิ้งร่างกายของตน
และทิ้งความผูกพันในร่างกายของบุคคลอื่น เพื่อเข้าสู่ความเป็นพระวิสุทธิเทพ ที่ไม่ต้องเคลื่อนไปจุติอีก
ในดินแดนอมตะพระนิพพานจุดเดียว"
๒๐. "ตั้งใจคิดอย่างนี้นะ ถ้าหากไม่กระจ่างเรื่องโลกธรรม ๘ ให้พวกเจ้าย้อน ดูคำสอนของ ท่านสิม
พุทธจาโร ในอดีต แล้วพวกเจ้าจักเข้าใจในโลกธรรม ๘ ยิ่งขึ้น
เพราะคำสอนนั้นเป็นอริยสัจ ทุกขสัจ อันเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายอยู่ในโลกทุกคน"
ไปเล่มที่ | ![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ไปเล่มที่ | ![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |